เส้นทางอาชีพ สายการเงินของบริษัท (Corporate Finance)

0
5475

ถ้าให้เปรียบเทียบบริษัทหนึ่งๆ กับร่างกายคน เงินก็เหมือนเลือด ที่หล่อเลี้ยงไปทั่วร่างกาย ไม่ว่าบริษัทนั้น จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก หรือ มีการตลาดที่ล้ำเลิศขนาดไหน

ถ้าขาดการบริหารจัดการด้านการเงินไปนั้น ก็เหมือนร่างกายคนที่ขาดเลือด

เส้นทางอาชีพ สายการเงินของบริษัทนั้น (Corporate Finance) จะเริ่มที่แผนกการเงิน โดยมักจะผสมรวมกับ แผนกบัญชีการเงิน (Accounting) อยู่ด้วย โดยเฉพาะในบริษัทขนาดเล็ก ที่อาจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แผนกบัญชีการเงิน ก็จะรับผิดชอบทั้งการทำบัญชี และการบริหารการเงินของบริษัทไปในตัว

ครั้น เมื่อบริษัทขยายตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ก็มักจะมีการแยก แผนกบัญชีการเงิน (Accounting) กับ แผนกบริหารการเงิน (Corporate Finance) ออกจากกัน

ในบทความนี้จะเน้นเจาะลึกไปที่ แผนกบริหารการเงินนะครับ

งานการเงินของบริษัท มีหน้าที่อย่างไร

งานการเงินของแต่ละบริษัทนั้น คือส่วนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเงินของบริษัท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และดูแลการใช้เงิน และจ่ายเงิน เช่น การซื้อวัตถุดิบ การควบคุมจำนวนสินค้าระหว่างผลิต ตำแหน่งสูงสุดในสายงานนี้ ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (Chief Financial Officer, CFO)

หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ทางด้านการเงินของแต่ละบริษัทอย่างคร่าว ๆ มีดังนี้

1. หน้าที่ในการพยากรณ์และวางแผน (Forecasting and Planning)

นำเสนอการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน และประมาณการงบประมาณ ของฝ่ายงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ กิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท

จัดทำและนำเสนอตัวเลขทางด้านการเงิน และจัดทำรายงานการดำเนินงานทางด้านการเงิน

2. หน้าที่ในการตัดสินใจลงทุนและจัดหาเงินทุน (Investment and Financial Decision)

จัดทำ และนำเสนอแผนการใช้เงินลงทุน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงโครงสร้างเงินทุน และแผนการในการระดมเงินทุน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจแก่ผู้บริหาร

3. หน้าที่ในการประสานงานและควบคุม (Coordination and Control) 

กำกับดูแล การวิเคราะห์ จัดทำและนำเสนอการวางแผนการดำเนินงานการเงินทั้งระยะสั้น และระยะยาว ได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับองค์กร และ ระดับหน่วยงาน

จัดทำ และวางแผนการจ่ายเงิน และควบคุมการรับ-จ่ายเงินของบริษัท

4. หน้าที่ในการเป็นตัวแทนองค์การ ทำการติดต่อกับตลาดการเงิน (Dealing with the Financial Market) 

เมื่อได้โครงสร้างเงินทุน และ แผนการระดมเงินทุน แล้ว แผนกบริหารการเงินก็ต้องติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งตลาดเงิน (Money Market) และ ตลาดทุน (Capita Market)

5. หน้าที่ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

เฉกเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน บริษัททั่วไปก็ควรมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย อาทิ เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ เป็นต้น

งานการเงินเป็นสายงานที่หลากหลายของตำแหน่งงาน สามารถทำได้ในหลายหน่วยงาน ทั้งทางภาครัฐ และเอกชน

เราจึงต้องเลือก และพิจารณาอย่างถ้วนถี่ว่า งานการเงินสายใดที่เหมาะกับตัวเราอย่างแท้จริง ผู้ทำงานด้านการเงิน ต้องเป็นบุคคลที่มีทั้งความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสายงานของตน ควบคู่กันไป เนื่องจากงานด้านนี้ เป็นงานที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบ (Accountability) และ ความละเอียด (Detail-orientd) ค่อนข้างสูง

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

อ้างอิง:

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here