LATEST ARTICLES

7 ขั้นตอนสร้างความฟิตทางการเงิน

การสร้างความฟิตทางการเงิน จำเป็นต้อง มีวินัย และ ความมุ่งมั่น อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เฉกเช่นเดียวกับ การวิ่งมาราธอน ที่ต้องมีการวางแผน การฝึกซ้อม และที่สำคัญ ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมแพ้

เราเชื่อว่าความฟิตทางการเงิน หมายถึง การที่คุณรู้สึกดี และ มีความมั่นใจกับสถานการณ์ทางการเงินของคุณ ซึ่งก็คือ คุณสามารถที่จะบริหารจัดการ “เงิน” ของคุณ ให้สามารถตอบโจทย์ ความต้องการ “ใช้เงิน” ของคุณ ทั้งในปัจจุบัน และ อนาคต

การจะได้มาซึ่ง “ความฟิตทางการเงิน” นั้น คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ “หลักการ” และ “แนวทางการปฏิบัติ” ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมากมายที่นำไปใช้ ได้บรรลุเป้าหมายทางการเงินของเขา

ตามมาดู 7 ขั้นตอนสร้างความฟิตทางการเงินของคุณ กันได้เลยครับ

1. ตั้งเป้าหมายทางการเงิน

  • คุณไม่มีทางไปถึงที่หมายได้ ถ้าคุณยังไม่รู้เลยว่ากำลังจะไปที่ไหน
  • ดังนั้น คุณต้องเริ่มที่การตั้งเป้าหมายทางการเงินของคุณ ทั้งระยะสั้น เช่น การปลดหนี้ ระยะกลาง เช่น การวางแผนซื้อรถ การเรียนต่อ และ ระยะยาว เช่น การวางแผนเกษียณ เป็นต้น
  • เมื่อคุณกำหนดเป้าหมายทางการเงินของคุณได้แล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นการประเมินว่าคุณต้องเก็บ ออมเงิน หลังค่าใช้จ่ายของคุณ เท่าไหร่ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน  เพื่อที่จะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินของคุณ
  • อย่าลืม!! เพิ่มเติมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉินในเป้าหมายทางการเงินของคุณด้วยนะ ถ้าให้ดีก็สำรองไว้ประมาณ 3-6 เดือน ของยอดค่าใช้จ่ายที่คุณต้องใช้ในแต่ละเดือน

2. เข้าใจการไหลออกของเงินของคุณ

  • กำหนดงบประมาณการใช้จ่ายในแต่ละหมวดของคุณ ซึ่งรวมถึง ค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ตลอดจนกำหนดปริมาณการออมเงินในแต่ละเดือน ที่จะช่วยให้คุณบรรลุตามเป้าหมายทางการเงินของคุณ
  • ติดตามและเฝ้าดู การใช้จ่ายของคุณเทียบกับงบประมาณที่คุณตั้งไว้ ดูว่าคุณใช้จ่ายเกิน งบประมาณที่คุณตั้งไว้หรือไม่ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ปรับนิสัยการใช้จ่ายของคุณ (ถ้ายังใช้จ่ายเงินเกินงบประมาณที่คุณตั้งไว้นะ)
  • ใช้สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ในการเก็บออมเงิน มาค่อยๆ ปรับให้คุณมีค่าใช้จ่ายน้อยลง และ เก็บเงินออมมากขึ้น

3.จัดการหนี้ของคุณ

  • ค่อยๆ ลดพฤติกรรมการสร้างหนี้ของคุณ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อแผนการออมเงินและลงทุนของคุณ
  • หลีกเลี่ยงการกู้เงินที่มีดอกเบี้ยสูงๆ และ ค่าธรรมเนียมแพงๆ โดยการลดใช้บัตรเครดิตของคุณ
  • สร้างแผนกลยุทธ์การจัดการหนี้ของคุณ โดยการโปะหนี้ตัวที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ส่วนหนี้อื่นๆ ก็จ่ายตามงวดที่เค้ากำหนดไปก่อน

4. สร้างระบบออมเงินอัตโนมัติ

  • แยกเงินออมไว้อีกบัญชีหนึ่ง อย่าเอามาปนกัน
  • ตั้งเวลาการโอนเงินแบบอัตโนมัติทุกเดือนไปยังบัญชีเงินออมประเภทต่างๆ ตามแผนการของคุณ เช่น บัญชีเพื่อการเกษียณ บัญชีเพื่อการลงทุน
  • หา app บริหารเงินดีๆ มาติดตามค่าใช้จ่าย และ การออมเงินของคุณ

5. อย่าเพิ่งยกระดับ Lifestyle เร็วเกินไป

  • เงินเดือนขึ้น ไม่ได้หมายความว่า เราต้องใช้จ่ายมากขึ้น
  • เงินเดือนส่วนเพิ่ม หรือ โบนัสที่ได้เพิ่ม หรือ คอมมิชชันที่ได้ มันจะเพิ่ม ส่วนเงินออม และ ส่วนการลงทุนอย่างรวดเร็ว ถ้า คุณไม่นำไปเป็นค่าใช้จ่ายซะก่อนนะ
  • พยายามรักษาระดับ Lifestyle ของคุณ อย่ายกระดับการใช้ชีวิตของคุณเร็วเกินไป
  • เพิ่มระดับ Lifestyle ของคุณตามความจำเป็น ให้คุณมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้นก่อน ในส่วนของความหรูหรานั้นเก็บไว้หลังจากที่คุณบรรลุตามเป้าหมายทางการเงินของคุณก่อนแล้วกัน

6. ลงทุนอย่างชาญฉลาด

  • การลงทุนในกองทุนที่ค่าธรรมเนียมต่ำ และ กระจายความเสี่ยงได้ดี เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงิน ทั้งในระยะสั้น และ ระยะยาว
  • ผสมผสานการลงทุน ทั้งกองทุนหุ้น และ กองทุนตราสารหนี้ เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทน และ ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับคุณ ตามเป้าหมายทางการเงิน และ ความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณ
  • มองยาวๆ อย่าไปโฟกัสกับกำไร หรือ ขาดทุนในระยะสั้นมากนัก เชื่อมั่นในแผนการลงทุนของคุณ แล้วปรับพอร์ตการลงทุนของคุณเป็นระยะๆ เพื่อให้มันดำเนินไปตามแผนการลงทุนระยะยาวของคุณ

7. ตามหาความรู้ และ คำแนะนำ ทางด้านการออมเงินและลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

  • ความฟิตทางการเงิน หมายถึง ความเข้าใจของคุณในการนำ “หลักการ” และ “แนวทางการปฏิบัติ” ในเรื่องการออมเงิน และ ลงทุน ไปใช้ประกอบในแผนการเงินของคุณ
  • เมื่อจำเป็น ลองขอคำแนะนำจาก ที่ปรึกษาทางการเงินและลงทุน ที่มีความรอบรู้และคุณไว้ใจ เพื่อช่วยคุณในการวางแผนการเงินและการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายทางการเงินของคุณ

สรุป

การพัฒนาทักษะเพื่อสร้าง “ความฟิตทางการเงิน” ก็เหมือนการพัฒนา ทุกๆ ทักษะบนโลกใบนี้ คือ ตอนเริ่มต้น มันไม่ง่าย มันใช้เวลา ใช้พลังงาน และ ใช้วินัย ในการสร้างความรู้และทักษะ ที่จะสร้างความฟิตทางการเงินของคุณ

แต่ข่าวดีก็คือ หลักการ “7 ขั้นตอนเพิ่มความฟิตทางการเงินของคุณ” นี้ สามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร หาเงินได้มากหรือน้อยแค่ไหน

เพราะหลักการเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มันสามารถช่วยผู้คนในการออมเงินและลงทุน เพื่อช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และ สร้างความมั่งคั่งให้คุณได้ในระยะยาว

Enjoy Saving. Enjoy Investing.

-นักรบการเงิน

ที่มา: https://www.cfainstitute.org/-/media/documents/support/future-finance/seven-steps-to-financial-fitness.ashx

ใครอยู่เบื้องหลัง? การออกหุ้น #IPO สุดร้อนแรง อย่าง #PTTOR

0

ในช่วงที่ผ่านมา ใครพลาดจองซื้อหุ้น #IPO สุดฮ๊อตอย่าง #PTTOR คงจะน่าเสียดายไม่น้อย

เพราะจนถึงวันนี้ ราคาเฉลี่ยยังอยู่ที่ระดับ 30 บาท ต่อหุ้น

ถ้าเทียบกับราคา #IPO ที่ 18 บาท แล้วนั้น ก็ถือว่ากำไรกว่า 70% เข้าไปแล้ว

วันนี้ #นักรบการเงิน จะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ #ผู้อยู่เบื้องหลัง การออกหุ้น #IPO กันครับ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเรื่อง ตลาด กันก่อน

ในโลกของการระดมทุนนั้น บริษัทกิจการต่างๆ สามารถระดมทุนได้ผ่านทางตลาดทุน

ซึ่งตลาดทุน ก็แบ่งเป็น ตลาดหลักทรัพย์ และ ตลาดตราสารหนี้

การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ คือ การแบ่งขายหุ้นของบริษัทให้กับนักลงทุน ทั้งนักลงทุนสถาบัน และ นักลงทุนรายย่อย โดยนักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ ตามผลประกอบการของบริษัท ในรูปแบบของการปันผล หรือ การนำหุ้นไปขายต่อในตลาดรอง

ในขณะที่การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ คือ การออกหุ้นกู้ให้กับนักลงทุน แลกกับเงินที่นักลงทุนให้กับบริษัทเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ โดยผลประโยชน์ที่นักลงทุนได้รับ จะเป็นผลตอบแทนคงที่ (Fixed-income) ตามอัตราและรอบที่ระบุไว้

กลับมาที่การออก #IPO ของ #PTTOR คือ การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยคำว่า #IPO (Initial Public Offering) คือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก

แล้วใครล่ะ ที่เป็น #ผู้อยู่เบื้องหลัง การออกหุ้น #IPO ของ #PTTOR อันสุดร้อนแรงในครั้งนี้

ปกติแล้ว การระดมทุนผ่านตลาดทุน ต้องทำผ่านสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งจะเรียกว่า #ที่ปรึกษาทางการเงิน

ในกรณีของ #PTTOR #ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่เลือกใช้ คือ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด, บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกั มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

ทำไม ถึงเรียกว่า #ที่ปรึกษาทางการเงิน?

เพราะหน้าที่ของสถาบันการเงิน เริ่มตั้งแต่การเข้าไปศึกษาและเข้าใจรูปแบบการดำเนินธุรกิจ งบการเงิน ผลการดำเนินการที่ผ่านมา

ก่อนที่จะวิเคราะห์ประมวลผล และ ให้คำแนะนำในการจัดโครงสร้าง ปรับรูปแบบการดำเนินการ รวมถึงการจัดทำงบการเงิน เพื่อให้เหมาะสม และผ่านกฎเกณฑ์ต่างๆ ของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการออก #IPO หรือ ที่คนในวงการเรียกว่า #แต่งตัว ก่อนออกตลาดนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นทีม #ที่ปรึกษาทางการเงิน ยังต้องช่วยทำการประเมินมูลค่าของบริษัท (Valuation) เพื่อกำหนดราคา #IPO ที่เหมาะสม

ท้ายสุด ทีมนี้ยังต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายในสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้ #การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwrite) เป็นไปอย่างราบรื่น

แล้วทีมที่ว่านี้คือทีมอะไรในสถาบันการเงินที่ว่ากันล่ะ?

คำตอบ ก็คือ ทีมวาณิชธนกิจ (Investment Banking) หรือ #IB นั่นเอง!!

จริงๆ แล้วทีม #IB ก็แบ่งเป็นทีมย่อยข้างในไม่ว่าจะเป็นทีม #Bond, #Loan, #M&A หรือ #Equity

ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการออก #IPO นั้น จะเป็นทีม #IB #Equity ซึ่งมักจะเรียกว่า #ECM (Equity Capital Markets) นั่นเอง

โดยปกติแล้ว ในการออก #IPO นั้น สถาบันการเงินจะคิด #ค่าธรรมเนียม #Fee เป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการออก #IPO ของบริษัทนั้นๆ ตามที่ตกลงกัน

ในยุคหนึ่ง เค้าถึงเรียกกลุ่ม มนุษย์ #IB เหล่านี้ว่า #มนุษย์ทองคำ นั่นเอง

แหล่งข้อมูล:

ทำไม “นักบิน” ถึงมาเตรียมตัวสอบ CFA, CFP ?

วันก่อนผมมีโอกาสได้ไปอบรมหลักสูตรทางการเงินหลักสูตรหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่อง การวางแผนทางการเงิน

วันนั้นเป็นการอบรมเต็มวัน ช่วงพักเบรคก็มีน้องคนหนึ่งในคลาสเข้ามาทัก

“พี่ครับ พี่ได้ Chartered แล้วใช่ไหมครับ?”

ผมแปลกใจว่าน้องคนนี้รู้ได้อย่างไรว่าผมได้ Chartered แล้ว (Chartered ในที่นี่ หมายถึง ผมได้ติดวุฒิ CFA แล้ว)

“ผมกำลังเตรียมสอบ CFA Level 2 อยู่ จะสอบรอบสิงหาคมนี้ พี่มีคำแนะนำไหมครับ?” น้องคนเดิมถามต่อ

ด้วยความสงสัย ผมจึงถามกลับว่ารู้ได้อย่างไรว่าพี่ได้ Chartered แล้ว

คำตอบที่ได้ มันทำให้ผมภูมิใจยิ่ง

“ผมติดตามพี่จากเพจ นักรบฯ อะครับ”

“เพจพี่มีประโยชน์มากครับ ให้ความรู้เส้นทางอาชีพนักการเงิน ที่ปกติไม่ค่อยมีใครรู้ครับ”

เป็นกำลังใจ เป็นเชื้อเพลิงชั้นยอดที่จะทำให้ผมทำสิ่งนี้ต่อไป

เพราะ “สิ่งที่เราลงแรงทำมาทั้งหมด อย่างน้อยมันก็มีประโยชน์กับใครบางคน”

หลังจากที่ได้พูดคุย ถามไถ่ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันพักหนึ่ง

สิ่งที่ผมแปลกใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ น้องคนนี้ทำงานเป็น “นักบิน”

อ่านไม่ผิดครับ น้องทำงาน Full Time เป็น “นักบิน” บินสัปดาห์ละ 4-5 วัน

ยังไม่พอ น้องยังทำงาน Part Time เป็นนักวางแผนการเงินอีกด้วย

สิ่งแรกที่แว๊บเข้ามาในหัว คือ “นักบิน” ต้องโดนผลกระทบจาก COVID-19 แน่เลย จึงต้องมาหาเส้นทางอาชีพอื่นเพิ่มเติม

แต่วินาทีถัดมา หลังจากสมองเจ้ากรรมประมวลผลเสร็จ ผมก็ตระหนักได้ว่า น้องกำลังเตรียมสอบ CFA Level 2 และ กำลังอบรม CFP Module 6 พ่วงด้วยทำงานเสริมเป็นนักวางแผนการเงิน

นี่น้องเค้าเตรียมการกับเส้นทางอาชีพใหม่นี่ มาสักพักแล้ว น่าจะก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ด้วยซ้ำไป

สมองเจ้ากรรมก้อนเดิมของผม ยังชวนผมคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์ปีที่แล้ว ตอนที่ผมไปสอบ CFP Module แรกๆ

ในขณะที่ผมนั่งชิมกาแฟ StarBucks รอเข้าห้องสอบนั้น ผมก็เจอรุ่นพี่ที่รู้จักท่านหนึ่งก็มาสอบด้วยเช่นกัน

รุ่นพี่ท่านนี้เป็นถึงผู้อำนายการอาวุโส เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ชั้นนำ แบบที่ออกมา Live ให้คำแนะนำการซื้อ/ขายหลักทรัพย์ และมี Phone in เข้ารายการวิทยุ โทรทัศน์ แทบทุกวัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในวินาทีที่ผมเดินเข้าไปในห้องสอบ ผมก็ได้พบรุ่นพี่อีกท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงระดับ “รองกรรมการผู้จัดการ” สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศเข้ามาสอบเช่นกัน

กลุ่มคนเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพที่ตัวเองเลือก ไม่ว่าจะเป็น “ผู้บริหารระดับสูง”, “ผู้บริหารระดับกลาง” หรือ “นักบิน”

แต่เค้าก็ยังไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ยังคงเรียนรู้ต่อไป

ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม คนกลุ่มนี้ถึงได้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพที่ผ่านมา

เพราะคนกลุ่มนี้ “ไม่เคยหยุดเรียนรู้”

และผมยังมั่นใจว่าคนกลุ่มนี้จะ “ประสบความสำเร็จ” มากขึ้นไปอีก

เพราะ “ชีวิตคือการเรียนรู้”

ปล. บันทึกเป็นความทรงจำกับน้อง Pitch แฟนเพจคนแรกที่ได้มาเจอกันตัวเป็นๆ ด้วยระดับพลังงานของน้องขนาดนี้ พี่เชื่อว่าในอนาคตน้องจะประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลแน่นอนครับ

ปล.2 “เรียนรู้” แล้วอย่าลืม “ลงมือทำ” ด้วยนะ

ด้วยความปราถนาดี

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์, 22 มีนาคม 2564

แนะนำคุณวุฒิสำหรับนักวางแผนการเงิน CFP®

0

หลังจากที่บทความที่แล้วได้พูดถึงอาชีพ Private Banker ไปแล้ว หลายๆ คนคงพอรู้จักและเริ่มสนใจคุณวุฒิสำหรับนักวางแผนการเงิน CFP® กันบ้างแล้ว บทความนี้จะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณวุฒินี้กันครับ

CFP® คืออะไร?

CFP® ย่อมาจาก Certified Financial Planner เป็นคุณวุฒิด้านการวางแผนทางการเงินและการแนะนำการลงทุนระดับสากล

สถาบันที่ออกแบบหลักสูตร จัดการสอบ และมอบคุณวุฒินี้ในประเทศไทย คือ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TPFA, Thai Financial Planners Association) โดยภารกิจของสมาคมคือ ส่งเสริมวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP®  ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในอุตสาหกรรมการเงินของไทย โดยผลิตนักวางแผนการเงิน CFP®  ที่มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานสากล

การสอบ CFP®  นั้นมีทั้งหมด 4 ฉบับ แบ่งเป็น 6 ชุดวิขา โดยในแต่ละชุดวิชาผู้สอบต้อบผ่านการอบรมทั้งหมด 40 ชั่วโมง (แบ่งเป็นการศึกษาในห้องเรียน 24 ชั่วโมง และศึกษาด้วยตนเอง 16 ชั่วโมง) จึงมีสิทธิ์สอบ

โดยเนื้อหาการสอบเป็นดังนี้

  • ฉบับที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ (Foundation of Financial Planning, Taxation, and Ethics and Practice Standards)
  • ฉบับที่ 2 การวางแผนการลงทุน (Investment Planning)
  • ฉบับที่ 3 การวางแผนการประกันภัย (Insurance Planning) และการวางแผนเพื่อวัยเกษียณ (Retirement Planning)
  • ฉบับที่ 4 ส่วนที่ 1 การวางแผนภาษีและมรดก (Tax and Estate Planning)
  • ฉบับที่ 4 ส่วนที่ 2 การจัดทำแผนการเงิน (Financial Plan Construction)

รูปแบบการสอบ ข้อสอบฉบับที่ 1 – 3 เป็นข้อสอบปรนัย (Multiple choice questions) ฉบับละ 85 ข้อ และข้อสอบฉบับที่ 4 ส่วนที่ 1 จะเป็นข้อสอบปรนัย 45 ข้อ ในขณะที่ข้อสอบฉบับที่ 4 ส่วนที่ 2 จะเป็นการสอบข้อเขียนและการสอบสัมภาษณ์

รู้หรือไม่?

ถ้าผู้สมัครสอบมีคุณวุฒิวิชาชีพเหล่านี้สามารถขอสิทธิ์เข้าสอบโดยไม่ผ่านการอบรมในชุดวิชา 1-6 ได้ (Challenge Status)

  • Certified Public Accountant (CPA)
  • Certified Investment and Securities Analyst Program Level 3 (CISA Level 3)
  • Chartered Financial Analyst (CFA Level 3)
  • คุณวุฒิวิชาชีพอื่นๆ ตามที่สมาคมฯ ให้ความเห็นชอบ

ส่วนตัวผมเองก็สนใจในคุณวุฒินี้ค่อนข้างมาก ปัจจุบันก็กำลังสอบอยู่ครับ

แล้วคุณล่ะ มาสอบคุณวุฒิ CFP® ไปพร้อมกันไหมครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

อ้างอิง: http://www.tfpa.or.th/home.php

อาชีพ Private Banker หรือยุคมนุษย์ทองคำกำลังจะกลับมา?

เมื่อปี 2019 ทางบริษัท SCB Julius Baer ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ กับ จูเลียส แบร์ ที่บริษัทจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนชั้นนำระดับพรีเมียมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกรายงานความมั่งคั่งในตลาดประเทศไทย ประจำปี 2019 (Wealth Report Thailand 2019) โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า ความมั่งคั่ง (Wealth) ของกลุ่มคนไทยที่มีสินทรัพย์สูง หรือ Thai HNWI (High Net Worth Individuals) มีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ย 9.9% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดย สัดส่วนของกลุ่มคนไทยที่มีสินทรัพย์สูง กว่า 19% เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Millennial Entrepreneur)

ถ้าจะสรุปรายงานฉบับดังกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กลุ่มชนชั้นเศรษฐีในประเทศไทยนั้นมีเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มเศรษฐีคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มเศรษฐีเดิมยังคงรวยขึ้น ดูได้จากความมั่งคั่งรวมของพวกเขาที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เฉลี่ยประมาณปีละ 10%

ยิ่งไปกว่านั้นผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้ พบว่ากว่า 43% ของกลุ่มชนชั้นเศรษฐีนั้นมีวิธีการตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนฝูง

คุณเห็นโอกาสอะไรไหม?

นี่คือโอกาสที่สถาบันการเงินน้อยใหญ่มองเห็น และได้จัดตั้งสายงาน Private Banking ขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูง (HNWI, High Net Worth Individuals) ทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน การลงทุน แบบครบวงจร รวมไปถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตของลูกค้า

เรามักจะเรียกบุคลากรที่ทำงานดูแลลูกค้าในสายงาน Private Banking ว่า “Private Banker” บางทีก็เรียกว่า “Financial Planner” หรือ “Financial Advisor”

ทำไม Private Banker จึงจะกลายเป็นอาชีพ มนุษย์ทองคำ?

จากที่กล่าวข้างต้น เราคงเห็นถึงอุปสงค์ (Demand) ที่ท่วมท้น ซึ่งก็คือ กลุ่มชนชั้นเศรษฐีและสินทรัพย์ของเขาที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่ออุปสงค์มากขึ้น อุปทาน (Supply) ก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย นั่นก็คือ ความต้องการ Private Banker ในตลาดแรงงาน ที่นับวันยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่การดูแลกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทำให้ Private Banker ที่เขาจะยอมให้มาบริหารจัดการสินทรัพย์ของเขานั้น ต้องเป็นคนที่ “ครบเครื่อง” ทั้งด้านความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ของลูกค้า

นั่นทำให้ Private Banker ที่ “ครบเครื่อง” นั้นหายากขึ้นไปอีก สถาบันการเงินทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงเริ่มมีการ “ซื้อตัว” Private Banker มือฉมังให้เข้ามาอยู่ในสังกัด

ความครบเครื่องทางด้าน “คุณวุฒิ” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Private Banker เนื้อหอม โดยพื้นฐานแล้ว ใครที่อยากจะมาเป็น Private Banker นั้น จำเป็นต้องมี IC License (Investment Consultant) เนื่องจากต้องมีการแนะนำการลงทุนให้แก่ลูกค้า แต่ Private Banker มือฉมังนั้น เขามักจะมุ่งเป้าไปที่ CFA (Chartered Financial Analyst) และ CFP (Certified Financial Planner) เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางด้านการเงินแบบครบถ้วน และเพิ่มความน่าเชื่อถือในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้า

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเองก็เริ่มอยากเป็น Private Banker บ้างแล้วสิ

แล้วคุณล่ะมีใครอยากเป็น Private Banker กันบ้าง ช่วย comment บอกเราด้านล่างได้เลยครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

อ้างอิง: https://www.juliusbaer.com/en/insights/arising-asia/scb-julius-baer-wealth-report-thailand-2019/

เส้นทางอาชีพ สายจัดการลงทุน (Fund Management)

เป็นอีกหนึ่งสายอาชีพในฝัน ของบรรดานักการเงิน ถ้าเราไปถามถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสายอาชีพนักการเงินของหลายๆ คนนั้น เชื่อว่า หนึ่งในเป้าหมายหลัก คงจะหนีไม่พ้นว่า

เพราะอยากเป็น “ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)” เป็นแน่

ในสายงานจัดการลงทุน เรามักจะเรียกกันว่าเป็น “ฝั่งซื้อ” (Buy Side) โดยมาก จะเริ่มจากการเป็น “นักวิเคราะห์การลงทุน” (Investment Analyst, IA) แล้วค่อยไต่เต้าไปเป็น “ผู้จัดการกองทุน” (Fund Manager) หรือ ระดับสูงสุดคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (Chief Investment Officer, CIO)

ขอแนะนำให้รู้จักกับสายอาชีพด้านจัดการกองทุน ดังนี้

1. นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst, IA)

จะมีหน้าที่คล้ายกับนักวิเคราะห์การลงทุน “ฝั่งขาย” (Sell side) กล่าวคือ มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ ค้นหาบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจลงทุน โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ

เริ่มจากการออกเยี่ยมชมกิจการและสัมภาษณ์ผู้บริหาร หาข้อมูลที่น่าสนใจ มาวิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจ แนวโน้มของอุตสาหกรรม จัดทำประมาณการงบการเงินและวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนแนวโน้มการจ่ายเงินปันผล

เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางการเงิน และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของราคาหุ้นด้วยวิธีต่างๆ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน

2. ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)

มีหน้าที่ตัดสินใจว่า เงินที่ลูกค้ามอบหมายมาให้ดูแล ในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) นั้น ควรจะบริหารอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง และไม่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่ลูกค้าจะรับได้ และเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ

โดยผู้จัดการกองทุนต้องตัดสินใจว่า ในพอร์ตโฟลิโอของลูกค้า (Portfolio) ควรจะมีการกระจายการลงทุนไปที่สินทรัพย์ประเภทใดบ้าง (พันธบัตร, หุ้นกู้, หุ้น, เงินฝาก) ในสัดส่วนเท่าใด (Asset Allocation) แล้วแต่ละประเภทสินทรัพย์นั้น ควรกระจายไปที่หลักทรัพย์ตัวใดบ้าง ที่จะได้ผลตอบแทนตามคาดหวัง แต่อยู่บนกรอบความเสี่ยงที่รับได้ และจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ลูกค้ากำหนด

โดยอาจจะแบ่งกลุ่มตามความชำนาญ เช่น ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารหนี้ (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ) ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารทุน (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในหุ้น) หรือ ผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (Chief Investment Officer, CIO)

มีหน้าที่บริหารทีมงานจัดการกองทุนและบริหารเงินลงทุนในภาพรวม CIO คนหนึ่งอาจจะต้องดูแลพอร์ตของลูกค้าเป็นร้อยบัญชี ตัว CIO จึงต้องคาดการณ์และตัดสินใจว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินแบบนี้ ควรจะนำเงินของลูกค้าไปลงทุนอย่างไร เช่น ควรแบ่งสัดส่วนระหว่างพันธบัตรและหุ้นอย่างไร ควรมีหุ้นต่างประเทศสักกี่เปอร์เซ็นต์ ควรเน้นหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป หรือ เอเชีย เป็นต้น

4. งานบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงในพอร์ตของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่า ระดับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ฯลฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เพื่อนๆ ทำอยู่ส่วนไหนในสายอาชีพจัดการลงทุน หรือ ใฝ่ฝันอยากทำส่วนงานใด แชร์ประสบการณ์ได้ตาม comment ด้านล่างเลยนะครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

อ้างอิง: http://fundmanagertalk.com/career-investment/

เส้นทางอาชีพ สายวาณิชธนกิจ (Investment Banking)

0

ในยุคสมัยหนึ่ง อาชีพวาณิชธนกิจ หรือ Investment Banking นั้น เคยถูกเรียกว่าเป็น อาชีพ “มนุษย์ทองคำ”

ในปัจจุบันอาชีพนี้ ก็ยังเป็นอาชีพสุดฮิต และเป็นเป้าหมายของนักเรียนนักศึกษาที่มีผลการเรียนระดับดีเยี่ยม ไม่แพ้ตำแหน่งงานของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey, BCG, ฯลฯ

สำหรับในประเทศไทยนั้น สายวาณิชธนกิจ มักจะถูกฝังตัวเป็นสายงานหนึ่งในธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์ในเครือธนาคาร อย่างเช่น KBank, SCB, Krungsri, TISCO และ Phatra

หน้าที่และความรับผิดชอบของวาณิชธนากร (Investment Banker) ค่อนข้างกว้าง ทำได้ตั้งแต่ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการจัดโครงสร้างทางการเงิน หรือทำหน้าที่ด้าน Corporate Finance เนื่องจากบริษัทบางแห่งจะมีขนาดใหญ่โต มีความต้องการทางการเงินหลากหลาย ผู้ทำหน้าที่ดูแลการเงินของบริษัทในสายงานที่กล่าวถึงเบื้องต้น อาจไม่สามารถดูแล ตัดสินใจได้ ต้องอาศัยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

วาณิชธนากรยังให้คำปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนำหุ้นออกเสนอขายให้กับประชาชน (IPO )โดยจะช่วยทำเอกสาร ช่วยประเมินมูลค่าหุ้น ช่วยนำเสนอต่อผู้ลงทุน และอาจจะช่วยดูแลหุ้นหลังจากเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดแล้วสักระยะหนึ่ง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการอีกด้วย

โดยตำแหน่งงานของ Investment Banker หลักๆ สามารถแบ่งได้เป็นดังนี้

1. DCM (Debt Capital Markets)

ทำหน้าที่ช่วยลูกค้าในการระดมทุนจากตราสารหนี้ (Bond) เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ประเมินสถานะทางการเงิน การประเมินราคาหุ้นกู้ ไปจนถึงการประสานงานการจัดจำหน่ายทั้งลูกค้าสถาบัน และ ลูกค้ารายย่อย

2. ECM (Equity Capital Markets)

ทำหน้าที่ช่วยลูกค้าในการระดมทุนจากตราสารทุน (Equity) เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ประเมินสถานะทางการเงิน การจัดเตรียมโครงสร้างการบริหาร และงบการเงินให้เหมาะสมก่อนเข้าสู่ตลาดทุน การประเมินราคาสำหรับการเสนอขายหุ้นใหม่ (Initial Public Offering, IPO) ไปจนถึงการประสานงานการจัดจำหน่ายทั้งลูกค้าสถาบัน และ ลูกค้ารายย่อย

3. สินเชื่อโครงการ (Project Finance)

เมื่อลูกค้าธุรกิจต้องการเงินทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ โครงสร้างในการระดมทุนจะค่อนข้างซับซ้อน จึงต้องมี วาณิชธนากรที่เชื่ยวชาญด้านสินเชื่อโครงการ ทำหน้าที่ คอยจัดโครงสร้างทางการเงินและการระดมทุน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า

4. ที่ปรึกษาทางการเงิน (Advisory)

ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำแกลูกค้า ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมหรือซื้อกิจการ (Merger & Acquisitions, M&A) ทั้งขาที่เป็นผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย, การเพิ่มทุน เป็นต้น

เพื่อนๆ มีใครทำอยู่สาย IB หรือ อยากจะทำสาย IB ช่วยแขร์ประสบการณ์ได้ตาม comment ด้านล่างเลยครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

จำเป็นต้องมี CFA มั้ย?

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว “ครั้งหนึ่งอาชีพ IB ถูกเรียกว่า “มนุษย์ทองคำ”” มีน้องๆ หลายคนถามกันเข้ามาว่า “ถ้าเราอยากเป็น Investment Bankers เราจำเป็นต้องมี CFA มั้ย?”, “ถ้าเราอยากเป็น Fund Manager เราจำเป็นต้องมี CFA มั้ย?”, “ถ้าเราทำงานด้าน Venture Capital เราจำเป็นต้องมี CFA มั้ย?”

คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีมากนะครับ เมื่อก่อน ก่อนที่ผมจะเข้ามาสู่โลกนักการเงิน และ มาสอบ CFA ผมก็เคยถามคำถามนี้กับตัวเองเช่นกัน

ดังนั้น วันนี้ผมขอมาแชร์ประสบการณ์ และ ความคิดเห็น ว่าเราควรจะสอบ CFA กันดีหรือเปล่านะครับ

CFA คืออะไร?

CFA ย่อมาจาก “Chartered Financial Analyst” เป็นคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพการเงินการลงทุนระดับสากล ที่ได้รับการยกย่องว่ามี “มาตรฐานระดับทองคำ (Gold Standard)” จากหลายสำนัก อาทิ Financial Times และ The Economist

โดยการสอบจะมีสามระดับ คือ CFA Level 1, CFA Level 2 และ CFA Level 3 ในแต่ละระดับก็จะเน้นความสำคัญไปในแต่ละเรื่อง เช่น CFA Level 1 จะเน้นไปที่ภาพรวมของโลกการเงิน แตะไปในทุก Topic ของโลกการเงินแต่ไม่ได้ลงลึกมากนัก ในขณะที่ CFA Level 2 จะเน้นไปที่การวิเคราะห์แบบลงลึก การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และ ทฤษฎี มาช่วยคำนวณ และ แก้ปัญหา ในแต่ละกรณีศึกษา และ CFA Level 3 จะเน้นไปที่การวางแผนการลงทุน ทั้งแผนการลงทุนสำหรับสถาบัน และ สำหรับบุคคล

เราจำเป็นต้องมี CFA มั้ย?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผมขอถามคำถามกลับว่า “เป้าหมายเราคืออะไร” แล้ว ดูว่า สิ่งที่เราอยากเป็นนั้น มันมีข้อบังคับที่จำเป็นต้องมี CFA หรือไม่

อย่างเช่น ถ้าเราอยากเป็น ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) แน่นอน ว่าจำเป็นต้องมี CFA เพราะมันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้จัดการกองทุน (Fund Manager License) เว้นแต่จะมีประสบการณ์ตรงครบตามที่กำหนด

แต่ถ้าเราบอกว่าเราอยากเป็น วาณิชธนากร (Investment Bankers) หรือ อยากทำงานด้านการร่วมลงทุน (Venture Capital) ผมก็บอกได้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องมี CFA

แต่ผมแนะนำว่า สอบไว้ มีไว้ก็ดีกว่า

เพราะ CFA curriculum เป็นหลักสูตรที่มีเนื้อหาที่ดีที่สุด และ ครอบคลุมความรู้เรื่องการเงินการลงทุนแทบทั้งหมด

แต่คำถามที่สำคัญที่สุดที่ผมอยากถามกลับคือ “ถ้าไม่สอบ CFA แล้วจะเอาเวลานั้นไปทำอะไร?”

ถ้าเอาเวลานั้นไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกับชีวิต มากกว่า ผมก็คิดว่า ควรไปทำสิ่งนั้น

แต่ถ้าทิ้งเวลานั้นให้เสียไปเปล่าๆ เช่น ดูหนัง ดูซีรี่ส์ เที่ยวกลางคืน ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมแนะนำว่า ให้เอาเวลามาเตรียมสอบ CFA ดีกว่าครับ

เพราะว่ามี CFA แล้วชีวิตดีครับ ผมคอนเฟิร์ม

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

ครั้งหนึ่งอาชีพ IB ถูกเรียกว่า “มนุษย์ทองคำ”

เมื่อพูดถึง “วาณิชธนากร” หลายคนก็คงไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอะไร แต่ถ้าเราพูดถึง “Investment Banker” ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงคุ้นหู เพราะในอดีตนั้น Investment Banker ถูกขนานนามกันว่าเป็นอาชีพ “มนุษย์ทองคำ”

หน้าที่ของ Investment Bankers คืออะไร?

หลักๆ คือ ทำหน้าที่ช่วยให้คำปรึกษาในการระดมทุนจากตลาดทุน เสมือนเป็นตัวเชื่อมระหว่างบริษัทที่ต้องการระดมทุน กับ ตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็น การเอาหุ้นเข้าตลาด แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ออก convertible bond ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ฯลฯ

ทำไมถึงเรียกว่ามนุษย์ทองคำ?

Goldman Sachs บริษัท Investment Banking อันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมักจะเป็นความใฝ่ฝันของนักศึกษาที่อยากทำงานสายการเงินทั่วโลก Goldman Sachs มักจะตามล่าหานักศึกษา MBA จบใหม่ จากมหาวิทยาลัย Top 10 ของโลก หรือกลุ่ม Ivy League (เช่น Havard, Columbia, Cornell University เป็นต้น) เพื่อดีงดูดให้มาร่วมงานด้วย ซึ่ง แน่นอน เงินเดือนเริ่มต้นนั้นแสนจะไม่ธรรมดา

อยู่ที่ประมาณ “3 ล้านบาทต่อปี!!!” ครับ

คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับ เด็กจบใหม่เริ่มต้น 3 ล้านบาทต่อปี!!!

สำหรับในประเทศไทยนั้น แม้เงินเดือน จะไม่ได้มากขนาด Goldman Sachs (ในตอนเริ่มต้น) แต่โบนัส ก็ไม่ธรรมดานะครับ ในปีที่มีผลงานระดับดีเลิศนั้น อาจะได้โบนัส หลัก 10 เดือน กันเลยทีเดียว (รู้หรือไม่ ว่าช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง IB ได้โบนัส กัน 20-30 เดือน!!)

แลกมาด้วยอะไร?

แน่นอนว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ฉะนั้นผลตอบแทนที่ Investment Banker ได้รับ ก็แลกมากับ การทำงานอย่างหนัก ต้องรอบรู้ทุกเรื่อง เชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าด้วยกันได้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ สัญชาตญาณ “นักล่าดีล (Deal Hunter)” ที่ต้องตื่นตัว และสำรวจทั่วตลาด ว่าตอนนี้ในตลาดกำลังจะมีดีลอะไรบ้าง บริษัทไหนกำลังอยากเข้าตลาดหุ้น บริษัทไหนกำลังอยากควบรวมกิจการ เป็นต้น

แล้วปัจจุบันยังเรียกว่า “มนุษย์ทองคำ” อยู่มั้ย?

ส่วนตัวผมก็ยังคิดว่า IB ยังคงเป็น มนุษย์ทองคำ อยู่นะ เพียงแต่เป้าในแต่ละปี มักจะสูงขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งในสายอาชีพก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนคงยังมี IB อยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ได้รับผลตอบแทนระดับ มนุษย์ทองคำอยู่ ส่วนกลุ่มที่เหลือ ก็คงต้องพยายามไต่เต้า และ พัฒนาตัวเองกันต่อไป

ฉะนั้น อย่ารอให้โลกหมุนหนีเราไป

จงพัฒนาตัวเอง และต้องทำเดี๋ยวนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราควรทำตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์