เส้นทางอาชีพ สายการเงินของบริษัท (Corporate Finance)

ถ้าให้เปรียบเทียบบริษัทหนึ่งๆ กับร่างกายคน เงินก็เหมือนเลือด ที่หล่อเลี้ยงไปทั่วร่างกาย ไม่ว่าบริษัทนั้น จะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก หรือ มีการตลาดที่ล้ำเลิศขนาดไหน

ถ้าขาดการบริหารจัดการด้านการเงินไปนั้น ก็เหมือนร่างกายคนที่ขาดเลือด

เส้นทางอาชีพ สายการเงินของบริษัทนั้น (Corporate Finance) จะเริ่มที่แผนกการเงิน โดยมักจะผสมรวมกับ แผนกบัญชีการเงิน (Accounting) อยู่ด้วย โดยเฉพาะในบริษัทขนาดเล็ก ที่อาจจะมีโครงสร้างทางการเงินที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แผนกบัญชีการเงิน ก็จะรับผิดชอบทั้งการทำบัญชี และการบริหารการเงินของบริษัทไปในตัว

ครั้น เมื่อบริษัทขยายตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นมากๆ ก็มักจะมีการแยก แผนกบัญชีการเงิน (Accounting) กับ แผนกบริหารการเงิน (Corporate Finance) ออกจากกัน

ในบทความนี้จะเน้นเจาะลึกไปที่ แผนกบริหารการเงินนะครับ

งานการเงินของบริษัท มีหน้าที่อย่างไร

งานการเงินของแต่ละบริษัทนั้น คือส่วนที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเงินของบริษัท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และดูแลการใช้เงิน และจ่ายเงิน เช่น การซื้อวัตถุดิบ การควบคุมจำนวนสินค้าระหว่างผลิต ตำแหน่งสูงสุดในสายงานนี้ ได้แก่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (Chief Financial Officer, CFO)

หน้าที่หลักของเจ้าหน้าที่ทางด้านการเงินของแต่ละบริษัทอย่างคร่าว ๆ มีดังนี้

1. หน้าที่ในการพยากรณ์และวางแผน (Forecasting and Planning)

นำเสนอการบริหารสภาพคล่องทางการเงิน และประมาณการงบประมาณ ของฝ่ายงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ กิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท

จัดทำและนำเสนอตัวเลขทางด้านการเงิน และจัดทำรายงานการดำเนินงานทางด้านการเงิน

2. หน้าที่ในการตัดสินใจลงทุนและจัดหาเงินทุน (Investment and Financial Decision)

จัดทำ และนำเสนอแผนการใช้เงินลงทุน ทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงโครงสร้างเงินทุน และแผนการในการระดมเงินทุน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจแก่ผู้บริหาร

3. หน้าที่ในการประสานงานและควบคุม (Coordination and Control) 

กำกับดูแล การวิเคราะห์ จัดทำและนำเสนอการวางแผนการดำเนินงานการเงินทั้งระยะสั้น และระยะยาว ได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระดับองค์กร และ ระดับหน่วยงาน

จัดทำ และวางแผนการจ่ายเงิน และควบคุมการรับ-จ่ายเงินของบริษัท

4. หน้าที่ในการเป็นตัวแทนองค์การ ทำการติดต่อกับตลาดการเงิน (Dealing with the Financial Market) 

เมื่อได้โครงสร้างเงินทุน และ แผนการระดมเงินทุน แล้ว แผนกบริหารการเงินก็ต้องติดต่อประสานงานกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งตลาดเงิน (Money Market) และ ตลาดทุน (Capita Market)

5. หน้าที่ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

เฉกเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน บริษัททั่วไปก็ควรมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้วย อาทิ เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ เป็นต้น

งานการเงินเป็นสายงานที่หลากหลายของตำแหน่งงาน สามารถทำได้ในหลายหน่วยงาน ทั้งทางภาครัฐ และเอกชน

เราจึงต้องเลือก และพิจารณาอย่างถ้วนถี่ว่า งานการเงินสายใดที่เหมาะกับตัวเราอย่างแท้จริง ผู้ทำงานด้านการเงิน ต้องเป็นบุคคลที่มีทั้งความสามารถ และความเชี่ยวชาญในสายงานของตน ควบคู่กันไป เนื่องจากงานด้านนี้ เป็นงานที่ต้องอาศัยความรับผิดชอบ (Accountability) และ ความละเอียด (Detail-orientd) ค่อนข้างสูง

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

อ้างอิง:

เส้นทางอาชีพ สายหลักทรัพย์ (Securities)

อาชีพสายหลักทรัพย์ ถือเป็นสายอาชีพยอดฮิต ชนิดที่ว่าถ้าพูดถึงสายการเงินการลงทุนแล้ว น้องๆ จบใหม่หลายๆ คน ก็อยากมาเริ่มงานที่สายอาชีพนี้กันทั้งนั้น 

ถ้าใครยังจินตนาการไม่ออกว่า อาชีพสายหลักทรัพย์นี้ ทำอะไรกันบ้าง ให้นึกถึง ละครดังเมื่อหลายปีก่อน อย่างเรื่อง แอบรักออนไลน์ (นำแสดงโดย หมาก ปริญญ์, คิมเบอร์ลี่, ปีเตอร์ คอร์ป และ แอน ทองประสม) ที่นำเสนอชีวิต และ สภาพแวดล้อมในการทำงานสายหลักทรัพย์ ได้เป็นอย่างดี 

อาชีพสายหลักทรัพย์ เป็นสายที่นักการเงินต้องวิเคราะห์ วางแผน และ แนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ นำสนอให้กับลูกค้า ซึ่งจะถือว่าสายหลักทรัพย์ เป็น “ฝั่งขาย” (Sell side) โดยสามารถแบ่งลักษณะงานได้เป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ (1) ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant, IC), (2) ผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner, IP), (3) นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst, IA) และ (4) นักค้าหลักทรัพย์ (Traders)

1. ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant, IC)

คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำการลงทุนให้ผู้ลงทุน เพื่อการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุน ประเภทต่างๆ ในตลาดทุน โดย IC สามารถนำเสนอสินค้าในตลาดทุนได้ตามประเภทที่ตนเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และได้รับอนุญาต

ประเภทธุรกรรมที่ผู้แนะนำการลงทุนสามารถให้คำแนะนำได้

2. ผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner, IP)

คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุน สามารถวางแผนประกอบการให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนที่เฉพาะเจาะจง และเหมาะกับข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นักลงทุน ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าแต่ละรายในเชิงลึก เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการวางแผน และให้คำแนะนำการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และวัตถุประสงค์การลงทุนของลูกค้าแต่ละราย

ลักษณะการทำงานของ IP จะครอบคลุมเหมือนกับงาน IC แต่จะมีความเหนือกว่า IC ในด้านการทำงานที่ขยายขอบเขตไปจนถึงการจัดทำแผนการลงทุน ตามเงื่อนไขเฉพาะของลูกค้า โดยเน้นไปที่การสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้า สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน

3. นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst, IA)

เปรียบเสมือนผู้คัดกรองและประมวลข้อมูลข่าวสารที่สำคัญด้านการลงทุน เพื่อให้คำแนะนำ และกำหนดกลยุทธ์ การลงทุนให้กับนักลงทุน โดยหน้าที่หลักของนักวิเคราะห์ฯ คือการค้นหาบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจลงทุน โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ

เริ่มจากการออกเยี่ยมชมกิจการและสัมภาษณ์ผู้บริหาร หาข้อมูลที่น่าสนใจ มาวิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจ แนวโน้มของอุตสาหกรรม จัดทำประมาณการงบการเงินและวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนแนวโน้มการจ่ายเงินปันผล เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางการเงิน และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของราคาหุ้นด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกนำมาเรียบเรียงเป็นบทวิเคราะห์เพื่อแนะนำให้นักลงทุนซื้อ หรือ ขายหุ้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ

ประเภทนักวิเคราะห์การลงทุน

4. นักค้าหลักทรัพย์ (Traders) 

มีหน้าที่นำเงินลงทุนของลูกค้าหรือของบริษัทที่ตนสังกัด ไปซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดรอง (Secondary Market) เพื่อทำกำไรในระยะสั้น โดยอาจจะเป็นการซื้อ-ขาย พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ตราสารอนุพันธ์เงินตราต่างประเทศ ฯลฯ 

ในประเทศไทย Traders ที่ซื้อ-ขาย พันธบัตร ตราสารอนุพันธ์ และเงินตราต่างประเทศ มักจะฝังตัวเป็นสายงานในธนาคาร เน้นบริหาร Position ให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนด 

ในขณะที่ Traders ที่ซื้อ-ขายหุ้น มักจะสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนี้มีชื่ออีกอย่างว่า Prop Trade (Proprietary Trader) คือ คนที่บริหารจัดการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ไป ซื้อ-ขาย หุ้นเพื่อทำกำไรให้กับบริษัท 

เพื่อนๆ ทำงาน หรือ อยากทำงาน ในส่วนไหนของสายหลักทรัพย์ (Securites) ช่วยแชร์ประสบการณ์ หรือ ความใฝ่ฝันได้ตาม comment ด้านล่างเลยนะครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

xxx xxxxx xx

อ้างอิง: TSI – Thailand Securities Institute

เปิดผัง “เงินเดือน” นักการธนาคาร (Bankers)

ต่อจากบทความที่แล้ว “เส้นทางอาชีพ นักการธนาคาร (Bankers)” ที่ผมได้อธิบายถึงลักษณะงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักการเงิน ในแวดวงธนาคารนะครับ

ในบทความนี้ เราจะลองมาดูกันว่า ฐานเงินเดือนในลักษณะงานต่างๆ นั้น เป็นอย่างไรกันบ้างครับ

เส้นทางอาชีพ นักการธนาคาร (Bankers)

ตอนผมเด็กๆ เวลาพูดถึงนักการธนาคาร ภาพที่ผมจินตนาการเห็นมักจะเป็นพนักงานสาขา ที่คอยบริการฝากเงิน ถอนเงิน เรามักจะเห็นภาพการนับธนบัตรอย่างรวดเร็ว การบริการลูกค้าที่เราประทับใจ รวมไปถึงการสอนการออมเงิน ด้วยการแจกกระปุกออมสินให้กับเด็กๆ

แต่จริงๆ แล้ว ธนาคารเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำหน้าที่ระดมเงินฝากภาคประชาชน ปล่อยเงินกู้เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจให้เติบโต และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต

โดยปัจจุบัน ตำแหน่งงานในธนาคารประกอบไปด้วยลักษณะงานที่หลากหลายมากมายกว่าที่ผมเคยจินตนาการไว้ ตั้งแต่ งานดูแลลูกค้า งานสาขา งานบัญชี งานการเงิน งานการตลาด งานบริหารจัดการความเสี่ยง งานทรัพยากรบุคคล ตลอดจน งานกฎหมาย งานเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในบทความนี้ จะขอเจาะไปที่งาน ของ “นักการเงิน” ในธนาคารนะครับ

ลักษณะงานของนักการธนาคาร ตามโครงสร้างองค์กรหลักๆ ของธนาคารหลายๆ แห่ง ในประเทศไทย สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ (Commercial Banking)
  2. กลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail Banking)
  3. กลุ่มธุรกิจตลาดทุน (Global Markets)
  4. กลุ่มงานผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Product Management)
  5. กลุ่มงานการเงิน (Finance)
  6. กลุ่มงานบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

1. กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ (Commercial Banking)

กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ หน้าที่หลักๆ คือ นำเสนอบริการทางการเงินแบบครบวงจรให้กับลูกค้าธุรกิจ ซึ่งหมายถึง บริษัท ห้างร้านต่างๆ โดยจะแบ่งเป็น ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Banking), ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Banking) และ ลูกค้าสถาบันการเงิน (Financial Institution)

คำว่า บริการทางการเงินแบบครบวงจร นี่เริ่มตั้งแต่ การปล่อยสินเชื่อ การระดมเงินฝาก บริการเงินโอน เงินกู้ต่างประเทศ หนังสือค้ำประกัน เรื่อยไปจนถึง การเป็นที่ปรึกษาในการออกหุ้นกู้ หรือการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์

โดยลักษณะงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักการเงิน มีดังนี้

  • ผู้จัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Manager)
  • นักวิเคราะห์สินเชื่อ (Credit Analyst)
  • ผู้พิจารณาสินเชื่อ (Credit Underwriter)
  • ฝ่ายบริการลูกค้าธุรกิจ (Client Service)
  • ฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์ (Planning)
  • ฝ่ายบริหารการขาย (Sales Management)

2. กลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อย (Retail Banking)

สำหรับกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อย หน้าที่หลัก ก็คือ การนำเสนอบริการทางการเงินแบบครบวงจร เช่นกัน ไล่ตั้งแต่ เงินกู้บ้าน เงินกู้ส่วนบุคคล เงินฝาก บัตรเครดิต ประกันชีวิต การวางแผนการลงทุน  เรื่อยไปจนถึง การทำ Mobile Banking และ การบริหารประสบการณ์ลูกค้า

โดยกลุ่มงานนี้ก็จะมีการแบ่งกลุ่มย่อยอีก เช่น กลุ่มลูกค้า Mass, กลุ่มลูกค้า Middle Income, กลุ่มลูกค้า High Net Worth ไปจนถึงกลุ่มลูกค้า Private Banking

โดยลักษณะงานหลักๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักการเงิน มีดังนี้

  • พนักงานสาขา (Teller, Branch Manager)
  • ฝ่ายวิเคราะห์ช่องทางและการจัดจำหน่าย (Channel & Distribution Specialist)
  • ผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Product Management)
  • นักวางแผน/ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Planner, Financial Advisor)
  • นักการธนาคารสำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (Private Banker)
  • ฝ่ายวางแผนและกลยุทธ์ (Planning)
  • ฝ่ายบริหารการขาย (Sales Management)

3. กลุ่มธุรกิจตลาดทุน (Global Markets)

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจตลาดทุน จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนเงินตรา (Foreign Exchange), การบริหารความเสี่ยงในด้านดอกเบี้ย (Interest Rate Risk), การบริหารความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Cross Currency Risk)

ซึ่งก็จะแบ่งกลุ่มงานตามลักษณะลูกค้าที่ดูแล เช่น ลูกค้าสถาบัน (Financial Institution), ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporates), ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และ ลูกค้ารายย่อย (Retail)

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เทรด ตราสาร กับสถาบันการเงินอื่นๆ เพื่อทำการรักษา Position ตามนโยบายขององค์กร

และอีกหน้าที่หนึ่งคือการบริหารจัดการทรัพย์สิน และ หนี้สิน (Asset and Liability Management) ให้มีสัดส่วนอยู่ในกรอบที่ธนาคารกำหนด

ในกลุ่มธุรกิจตลาดทุนนี้ มักจะมีชื่อเรียกกันในวงการว่า “ห้องค้า” โดยภายในห้องค้า ก็จะแบ่งเป็นโต๊ะๆ ดังนี้

  • โต๊ะ MM (Money Market)
  • โต๊ะ Sales (Dealer)
  • โต๊ะ FI (Dealer)
  • โต๊ะ Trade (Trader)
  • ฝ่ายตราสารอนุพันธ์ (Derivative)

4. กลุ่มงานผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Product Management)

ทำหน้าที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละประเภทลูกค้า ทั้งนี้ยังรวมถึงการกำกับดูแล กระบวนการ (Process) ของผลิตภัณฑ์นั้น ตั้งแต่ ประโยขน์ของผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าได้รับ ฟังก์ชันการใช้งาน เรื่อยไปจนถึงงานหลังบ้าน ที่ต้องมีระบบ IT ในการจัดการ การควบคุมให้เป็นในตามกฎหมาย และกฎที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

โดยลักษณะงานแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน(Transactional Banking Product), ผลิตภัณฑ์เงินกู้ (Credit Product) ,ผลิตภัณฑ์เงินฝาก (Deposit Product)

งานที่เกี่ยวข้องกับ นักการเงิน แบ่งได้ ดังนี้

  • ฝ่ายผลิตภัณฑ์บริหารจัดการเงินสด (Cash management Product)
  • ฝ่ายผลิตภัณฑ์และสินเชื่อเพื่อธุรกิจการค้า (Trade Product)
  • ฝ่ายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (Credit Product)
  • ฝ่ายผลิตภัณฑ์เงินฝาก (Deposit Product)
  • ฝ่ายบริการธุรกิจหลักทรัพย์ (Securities Service)

5. กลุ่มงานการเงิน (Finance)

ในส่วนของกลุ่มงานการเงิน ถือเป็นกลุ่มงานสำคัญที่ทุกองค์กรต้องมี เปรียบเสมือนเป็นกระเป๋าเงินขององค์กร หน้าที่หลักคือ การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงินให้กับองค์กร รวมถึงการจัดการบัญชีขององค์กร

โดยลักษณะงานหลักๆ คือ ฝ่ายวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน (Financial Planning & Analysis, FP&A) ทำหน้าที่วิเคราะห์ วางแผน และกำกับดูแลสายงานธุรกิจให้มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งลักษณะงานก็แตกต่างกันในรายละเอียดตามสายงานที่ดูแล และ อีกหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญก็คือ ฝ่ายบัญชีการเงินและควบคุม (Accounting and Control) ที่ช่วยจัดการรายรับ รายจ่าย และจัดทำบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

6. กลุ่มงานบริหารความเสี่ยง (Risk Management)

ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงิน Hamburger Crisis ในปี 2000 เป็นต้นมา ถือเป็นช่วงที่ทำให้หน่วยงานบริหารความเสี่ยงเติบโตขึ้น และมีความต้องการบุคลากรทางเงินและบริหารความเสี่ยงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หน่วยงานบริหารความเสี่ยงนี้ จะมีหน้าที่กำกับดูแล (Policy), เฝ้าระวัง (Monitor) และบริหารจัดการความเสี่ยงในภาพรวมขององค์กร และรวมไปถึงบริหารจัดการความเสี่ยงในแต่ละสายงานซึ่งมีลักษณะการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน

ลักษณะงานหลักๆ สามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk)
  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
  • ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk)
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (Operational Risk)
  • การบริหารจัดการการดำรงเงินกองทุน (Capital Management)
  • การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบบูรณาการ (Integrated Risk Management)

เพื่อนๆ ทำงานกันอยู่สายไหน หรือ อยากจะไปทำสายไหนในวงการธนาคาร แชร์ความเห็นด้านล่างนี้ได้เลยครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓

5 สิ่งต้องทำ ที่ทำให้บริษัทขาดเราไม่ได้

1. เข้าหางาน อย่ารอให้ใครมาสั่ง (Lend a hand)

อย่ารอให้ใครมาขอให้เราช่วยทำโปรเจคนั้น นี้ นู้น, หาความคิดริเรื่มอะไรใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาองค์กรได้ ร่างมาคร่าวๆ แล้วเข้าไปเสนอ หัวหน้า ขอทำเลย หรือ ถ้าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ ก็แค่เข้าไปถามหัวหน้าว่ามีอะไรให้ช่วยมั้ย?

2. ทัศนคติที่เป็นบวก (Be positive)

คนที่ทำงานมาสักพักนึงแล้วจะรู้ดี แม้ว่าความรู้ความสามารถจะเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ทัศนคติที่เป็นบวก ในหลายๆเรื่อง ถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้ ทุกอย่างมันก็จบตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มด้วยซ้ำ

3. พัฒนาทักษะความสามารถหลายๆ ด้าน (Develop multiple skills)

ถ้าเราทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว เราก็สามารถรับทักษะความรู้ ใหม่ๆ ได้ตลอด ในทางกลับกันถ้าเราเป็นนำเต็มแก้ว คือ กูเก่งแล้ว อะไรก็ไม่อยากรู้เพิ่ม ก็เท่ากับเราเริ่มเดินถอยหลังแล้ว อย่าลืมว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ ไฟแรงก็จบมาเพิ่มขึ้นทุกวัน

4. เป็นคนที่หัวหน้าของคุณนึกถึง เวลามีปัญหาหรือโจทย์ใหม่ๆ (Become your manager’s go-to person)

จงทำตัวเป็นนักแก้ปัญหา จนทำให้หัวหน้าและคนอื่นๆ ในองค์กรนึกถึงเวลาเค้ามีปัญหา และอยากให้เราช่วยเค้า เพราะในท้ายที่สุดแล้วองค์กรก็จ้างพวกเราเพื่อให้มาแก้ปัญหานี่แหละ จำไว้ผู้บริหารเก่งๆ ก็คือมีทักษะการแก้ปัญหาที่เก่งๆ ทั้งนั้น

 5. รับผิดและรับชอบในงานที่เราทำ (Take responsibility for your work)

เมื่องานสำเร็จจงแอ่นอกรับผลแห่งความสำเร็จ ในทางกลับกันถ้าผิดพลาดล้มเหลวก็จงกล้ารับผิด จำไว้การทำงานก็เหมือนการเดินทางไกล ยังไงก็ต้องมีเลี้ยวผิดบ้าง หลงทางบ้าง ถ้าโบ้ยความชั่วให้คนอื่น สักวันก็ต้องมีคนรู้ มีคนเห็น ดังนั้นเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าไปทำเลยเสียดีกว่า

ปัจจุบัน คุณทำข้อไหนอยู่แล้วบ้าง หรือ ทำครบทุกข้ออยู่แล้ว comment บอกเราด้านล่างหน่อยครับ

ด้วยรักและห่วงใย

สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓

ที่มา: https://www.paycor.com/resource-center/5-tips-to-becoming-employee-of-the-year

AI จะมาทดแทนและทำให้ “นักการเงิน” ตกงาน!!

0

นี่เป็นหนึ่งในหัวข้อ Discussion ในงานประชุมประจำปี 2018 ของ CFA Society Thailand

โดยในปีนั้นได้มีการจัด Panel เพื่อมาพูดคุยถึงประเด็น “Impacts of FinTech on Financial Careers” และมีผู้ทรงคุณวุฒิ มาร่วมแสดงความเห็น ประกอบด้วย

1.) Khun Thanapong Na Ranong, Managing Director at Beacon Venture Capital

2.) Khun Natwut Amornwiwat, Co-founder of T2P

3.) Dr. Saran Ahuja, Senior Data Scientist at SCB Abacus co.,ltd.

4.) Khun Miranda Songpatanasilp, CFO/Co-Founder of AVA

Moderator: Khun Aunchisa Tapanakornwut, Securities and Exchange Commission Thailand

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับคำว่า AI กันก่อนครับ

AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence ภาษาไทย คือ ปัญญาประดิษฐ์ ถ้าจะสื่อสารกันให้ถูกต้อง AI คือ ระบบประมวลผล ที่มีการวิเคราะห์เชิงลึก คล้ายความฉลาดของมนุษย์ และสามารถก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นการกระทำได้ เช่น การแปลภาษา เกิดจากการประมวลผลจากข้อความรับเข้า แล้วแปลงออกมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง

ถ้าเปรียบเทียบกับภาพยนตร์อย่าง #IronMan, AI ก็คือ #Jarvis ที่คอยช่วยตอบคำถาม, คิดคำนวณ และประมวลผล ให้กับ #TonyStark ตามที่ Tony สั่งนั่นเอง

โดยผมจะขอสรุปประเด็นในเรื่อง AI จะมาแทน “นักการเงิน” อย่างพวกเรา ดังนี้นะครับ

จริงๆ มีการพูดถึงเรื่อง AI จะมาแทนมนุษย์ มานานแล้ว

ย้อนไปสมัยก่อน จนถึง ยุคอุตสาหกรรม ก็กลัวกันว่า เครื่องจักร จะมาแย่งงาน มนุษย์ แต่จริงๆ มันมาเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานของเรามากกว่า

กล่าวคือ เราก็เปลี่ยนจากลงมือผลิต มาเป็น คนควบคุมเครื่องจักร ควบคุมกระบวนการ รักษาคุณภาพ

ซึ่งมันก็คือ การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์ กับ เครื่องจักร นั่นเอง

ซึ่งแนวคิดนี้เอง จึงทำให้เชื่อว่า การมาของ AI จะไม่ได้ทำให้เราตกงาน แต่เป็นการสร้างงานในรูปแบบใหม่ๆ ให้เรามากกว่า

ซึ่งผู้ที่ปรับตัวได้ และทำงานสอดรับกับ AI ได้ก็จะเป็นผู้ที่ “ไม่ตกงาน”

โดยเรา ก็ต้องยกระดับความรู้ ความสามารถของเราด้วย เรามีข้อได้เปรียบตรงที่เรามีองค์ความรู้ที่เราสะสมมา ผสานกับ Human Touch ที่ AI ไม่มี ทั้งการให้บริการที่ดี การเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกลูกค้า ฯลฯ

อีกด้านหนึ่ง AI ก็จะมาช่วยทำงาน ถึกๆ หรือ ซับซ้อนๆ ที่เราไม่อยากทำอยู่แล้ว ทำให้เรามีเวลาไป Focus เรื่องที่สำคัญ กว่า

แน่นอนงานบางส่วนจะหายไป แต่จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

ในฐานะ “นักการเงิน” ที่เรามีองค์ความรู้อยู่แล้ว ถ้าเราค่อยๆ หาความรู้เพิ่มเติมวันละนิด ขยับเข้าหาเทคโนโลยีวันละหน่อย ก็น่าจะเป็นการเตรียมตัวเราให้พร้อมกับโลกยุคใหม่ ที่จะมี AI มาร่วมทำงานกับเราได้ดีครับ

1 กระเป๋า 2 กระปุก เก็บเงินให้สนุก เก็บด้วย Kept by Krungsri

0

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยให้การเก็บเงินเป็น “เรื่องง่าย” และ “สนุก”

ตาม Concept ของธนาคาร ที่บอกว่า “เรื่องเงิน เรื่องง่าย” และ “ทุกเรื่องยาก ง่ายได้”

จะเป็นอย่างไร ลองไปติดตามกันดูครับ

“กระเป๋า Kept” ช่วยเบ็ดเสร็จใช้จ่ายประจำวัน

  • “เหมือนกระเป๋าสตางค์แยกเงินเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน”
  • โอนเงินเข้า Kept และตั้งเลยว่าจะใช้เงินในกระเป๋า Kept เท่าไหร่ ส่วนที่เหลือจะกันไปเก็บให้ที่กระปุก Grow อัตโนมัติทุกสิ้นวัน ไม่ต้องกังวลเมื่อเงินไม่พอใช้เพราะฟีเจอร์โอนออกอัตโนมัติ (Allow money out) จะหยิบเงินส่วนที่ขาดจากกระปุก Grow ให้คุณเอง หรือจะแคะจากกระปุก Fun มาใช้ก็ยังได้

“กระปุก Grow” ช่วยให้เงินโตตามตั้งใจ

  • ” เหมือนกระปุกไว้เก็บเงินก้อน เพื่อรับดอกเบี้ยสูงสุด 1.8 % ต่อปี* ”
  • เก็บเงินส่วนเกินจากที่ตั้งไว้ใช้ในกระเป๋า Kept มาเก็บให้ในกระปุก Grow อัตโนมัติในวันถัดไป (ขั้นต่ำ 5,000 บาทต่อรายการ) วันไหนมีเงินเกินกว่าที่ตั้งไว้ เดี๋ยวระบบเก็บให้เอง พร้อมรับดอกเบี้ยสูง 1.6 % ต่อปี* ในเดือนที่ 1 – 12 และสูงขึ้นเป็น 1.8 % ต่อปี* ในเดือนที่ 13 – 24 คิดดอกเบี้ยทุกวัน จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 28 ของเดือน
·         *ดอกเบี้ยและเงื่อนไขเป็นไปตามกำหนดของธนาคาร

“กระปุก Fun” ช่วยให้มันส์ในการใช้เงิน

  • “เหมือนกระปุกไว้เก็บเล็กผสมน้อย ช่วยหยอดเหรียญใส่กระปุกให้อัตโนมัติ”
  • เก็บเงินสนุกกว่าเดิมด้วยกระปุก Fun มาพร้อม 2 ฟีเจอร์เด็ด แอบเก็บและสั่งเก็บทุกครั้งที่ใช้เงิน ช่วยเก็บเงินให้แบบไม่รู้ตัว
  • อยากใช้ก็โอนกลับไปใช้ที่กระเป๋า Kept ได้ เผลอแปปเดียวก็มีเงินเก็บอีกก้อนแล้ว!

Reference: https://www.keptbykrungsri.com/

Speed of Trust กับ กฎแรงดึงดูด with Simon Sinek and Stephen M.R. Covey

0

เมื่อปลายปีที่แล้ว Simon Sinek (ผู้แต่งหนังสือ Best Seller ทั้ง Start with Why และ Find your Why) เพิ่งปล่อยคลิปวีดีโอสั้นๆ พูดถึง เรื่อง “Performance vs Trust” (ตามไปดูได้ทีนี่ http://bit.ly/2CNftxr ) โดยสรุป Simon ได้วาด 2-by-2 matrix diagram ระหว่าง Performance vs Trust

2by2 Matrix: Performance and Trust

โดยอุดมคติแล้ว ทุกองค์กร ย่อมอยากได้บุคลากรที่ Hi Perf./Hi Trust (ตามรูป เลข 1) และไม่อยากได้บุคลากรที่ Low Perf./Low Trust (ตามรูป เลข 2)

แต่คำถามสำคัญ คือ องค์กร อยากได้บุคลากรแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่าง กลุ่ม Hi-Perf./Low Trust (ตามรูป เลข 3) กับ กลุ่มMedium (or even Low) Perf./Hi Trust (ตามรูป เลข 4)

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องเข้าใจกับคำว่า Trust ก่อน

เป็น “กฎแรงดึงดูด” หรือ ความบังเอิญ ก็มิอาจรู้แน่ชัด แต่หลังจาก คลิปของ Simon Sinek เผยแพร่ได้สองวัน ผมก็ได้มีโอกาสไป เข้าร่วมงาน “Simple to Grow: Growing @ the Speed of Trust” ที่ทางบริษัทจัดขึ้น โดยเชิญ คุณ Stephen M.R. Covey (ผู้แต่งหนังสือ Best Seller “The Speed of Trust” และ เป็นลูกชายของ Dr. Stephen R. Covey ผู้แต่ง The 7 Habits อันโด่งดัง) มาเป็นผู้บรรยาย

Trust คือ ความไว้วางใจ, Trust ประกอบด้วยสองส่วน คือ ตัวตน (Character) และ ความสามารถ (Competence), เราต้องขยายความไว้วางใจของเราออกไป เพื่อจะได้รับความไว้วางใจกลับมา เริ่มจาก ตนเอง (Self) > ความสัมพันธ์ (Relationship) > องค์กร (Organization) > ตลาด (Market) > สังคม (Society)

องค์กรที่มี Hi-Trust แล้วดีอย่างไร?

  • Low-Trust ทำให้เกิด Low-Speed & Hi-Cost
    • เช่น ผู้ผลิตส่งของไปที่พ่อค้าคนกลาง นับของ-ตรวจของ จากนั้นพ่อค้าคนกลางส่งไปที่บริษัทขนส่ง ซึ่งก็ต้องนับของ-ส่งของอีกรอบหนึ่ง ก่อนที่จะส่งไปที่ลูกค้าปลายทาง ทำให้ทั้งช้า และ ต้นทุนสูง
  • Hi-Trust ทำให้เกิด Hi-Speed & Low-Cost
    • เช่น ผู้ผลิตส่งของตรงไปที่ลูกค้าปลายทางเลย เป็นกระบวนการที่ Hi-Trust ที่ทั้ง เร็ว และ ต้นทุนต่ำกว่า

เปรียบเทียบการบริหารแบบ Low-Trust vs Hi-Trust

Command & ControlTrust & Inspire
Manage People and ThingsManage Things, Lead People
Compliance (Follow the Rules)Commitment (Do the Right Thing)
TransactionalTransformational
Bureaucracy & ComplexityAgility & Simplicity
Status Quo & IncrementalismChange & Innovation
Coordination among GroupsCollaboration among Teams
ControlRelease, Unleash
Motivation (External)Inspiration (Internal)

ข่าวดีคือ TRUST เป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้ ทั้งในส่วนของ ตัวตน (CHARACTER) และ ความสามารถ (COMPETENCE)

เรียนรู้และพัฒนาทักษะ ผ่านทาง 13 พฤติกรรมดังนี้

ในเมื่อมี Hi-Trust แล้วมันดีอย่างนี้ แล้วถ้าเปรียบเทียบคนที่ Hi-Perf./Low-Trust vs Medium (or Low) Perf./Hi-Trust ล่ะ เราควรจะเลือกคน หรือ ทีมงานแบบไหน

Simon Sinek บอกว่า หลุมพราง ก็คือ กลุ่มคนที่ Hi-Perf. นั้นมองเห็นได้ง่าย และ องค์กรส่วนใหญ่ มักจะให้รางวัลกับคนกลุ่มนี้ ในขณะที่ กลุ่มคนที่ Hi-Trust นั้นวัดผลยาก (แต่มองเห็นได้) อย่างไรก็ดีวิธีง่ายๆ ที่จะหากลุ่มคนที่ Hi-Perf./Low-Trust ก็คือ ให้ไปถามทีมงาน หรือ เพื่อนร่วมงาน ว่าคนไหนในทีม คือ “ตัวแสบ” (Simon ใช้คำว่า asshole เลยนะ) คนนั้นแหละ Hi-Perf./Low-Trust ในขณะที่การหาคนกลุ่ม Hi-Trust ทำได้โดยถามทีมงาน หรือ เพื่อนร่วมงาน ว่าใครที่คุณพร้อมจะร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน ใครที่คอยช่วยเหลือคุณเสมอเวลาคุณมีปัญหา หรือ เดือดร้อน คนกลุ่มนั้นแหละ “Hi-Turst”

อ่านมาถึงตรงนี้ คงถึงบางอ้อแล้ว ว่า Simon เลือกกลุ่มคนแบบไหน แล้วคุณล่ะลองนึกในใจดูว่าใครเป็นพวก Hi-Perf./Low-Trust และ ใครที่เป็นพวก Hi-Trust

ที่มา: http://bit.ly/34UYyVy

5 เส้นทาง สายนักการเงินมืออาชีพ (Careers in Finance)

1. สายการธนาคาร (Banking)

เป็นสายที่นักการเงินคุ้นเคยมากที่สุด และเป็นสายงานที่เก่าแก่ที่สุด ในอดีตสายนี้จะเน้นหน้าที่หลัก คือ ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์เครดิต การวิเคราะห์ธุรกิจและโครงการ การวิเคราะห์อุตสาหกรรม การจัดวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกค้า รวมไปถึงการระดมเงินฝาก ทั้งเงินฝากจากลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย

นอกจากการปล่อยสินเชื่อแล้ว อีกหน้าที่หนึ่งที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ทางด้านการเงินคือ สายบริหารเงิน (Treasury) ทำหน้าที่บริหารจัดการเงินให้สมดุล ระหว่าง เงินกู้ และ เงินฝาก ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการเป็นดีลเลอร์ และเทรดเดอร์ด้วย

ในยุคปัจจุบัน ในประเทศไทยผู้คนเริ่มมีความสนใจในการสะสมความมั่งคั่ง (wealth) มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อีกหน้าที่หนึ่งของนักการเงินในสายการธนาคารก็คือ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Wealth Management) ซึ่งรวมไปถึงการวางแผนการเงินส่วนบุคคล (Financial Planning) ด้วยเช่นกัน

2. สายหลักทรัพย์ (Securities)

เป็นสายที่นักการเงินต้องวิเคราะห์ วางแผน และ แนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ นำสนอให้กับลูกค้า ซึ่งจะถือว่าสายหลักทรัพย์ เป็น “ฝั่งขาย” (Sell side)  โดยสามารถแบ่งลักษณะงานได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ (1) ผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant), (2) ผู้วางแผนการลงทุน (Investment Planner) และ (3) นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst)

ผู้แนะนำการลงทุน (IC) คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำการลงทุนให้ผู้ลงทุน เพื่อการซื้อขายหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุน ประเภทต่างๆ ในตลาดทุน

ผู้วางแผนการลงทุน (IP) คือ ผู้ที่ให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุน สามารถวางแผนประกอบการให้คำแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนที่เฉพาะเจาะจง และเหมาะกับข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์นักลงทุน

นักวิเคราะห์การลงทุน เปรียบเสมือนผู้คัดกรองและประมวลข้อมูลข่าวสารที่สำคัญด้านการลงทุน เพื่อให้คำแนะนำ และกำหนดกลยุทธ์ การลงทุนให้กับนักลงทุน

3. สายจัดการลงทุน (Fund Management)

งานของนักการเงินในสายจัดการลงทุนนี้ จะเป็นงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมและวิเคราะห์หลักทรัพย์ กำหนดนโยบายการลงทุน และจัดสรรการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ซึ่งจะถือว่าสายจัดการลงทุนนี้ เป็น “ฝั่งซื้อ” (Buy side) โดยลักษณะงานจะแบ่งเป็น นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst) และ ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) นอกจากนี้ยังรวมไปถึง กลุ่มงานที่บริการจัดการความเสี่ยงจากการลงทุนอีกด้วย (Risk Management)

นักวิเคราะห์การลงทุน เปรียบเสมือนผู้คัดกรองและประมวลข้อมูลข่าวสารที่สำคัญด้านการลงทุน เพื่อให้คำแนะนำ และกำหนดกลยุทธ์ การลงทุนให้กับนักลงทุน

ผู้จัดการกองทุนก็คือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลการลงทุนของเงินที่ลูกค้าที่ได้มีการระดมทุนกันมา โดยผู้จัดการกองทุนจะดูว่าจะแบ่งเงินออกเป็นส่วนๆ เพื่อไปลงทุนในหุ้น ในตราสารหนี้ หรือจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมด้วยกันก็ได้ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นผลตอบแทนที่สูงพอสมควร

4. สายวาณิชธนกิจ (Investment Banking)

หน้าที่ของวาณิชธนากร (Investment Banker) นี่กว้างมากเช่นกัน ทำได้ตั้งแต่ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในการจัดโครงสร้างทางการเงิน หรือทำหน้าที่ด้าน Corporate Finance เนื่องจากบริษัทบางแห่งจะมีขนาดใหญ่โต มีความต้องการทางการเงินหลากหลาย ผู้ทำหน้าที่ดูแลการเงินของบริษัทในสายงานที่กล่าวถึงเบื้องต้น อาจไม่สามารถดูแล ตัดสินใจได้ ต้องอาศัยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

วาณิชธนากรยังให้คำปรึกษาในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และนำหุ้นออกเสนอขายให้กับประชาชน (IPO )โดยจะช่วยทำเอกสาร ช่วยประเมินมูลค่าหุ้น ช่วยนำเสนอต่อผู้ลงทุน และอาจจะช่วยดูแลหุ้นหลังจากเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดแล้วสักระยะหนึ่ง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมกิจการอีกด้วย

5. การเงินของบริษัท (Corporate Finance)

คือผู้ที่ทำหน้าที่กระเป๋าเงินให้กับองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร หรือไม่แสวงหาผลกำไร หน้าที่ก็มีตั้งแต่จัดหาเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ ซึ่งมีทางเลือกหลักๆ คือ ใช้ส่วนของทุน (Equity) ใช้เงินกู้ยืม (Debt) หรือใช้เครดิตทางการค้า (Supplier’s Credit) ส่วนที่ใช้ตราสารใหม่ๆ ก็จะแทรกอยู่ในหมวดหลักๆ เหล่านี้ทั้งนั้น เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ ก็เป็นตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ก็เป็นอนุพันธ์ของตราสารทุน เป็นต้น

นอกจากการจัดหาเงินแล้วก็ต้องดูแลการใช้เงินและจ่ายเงิน เช่น การซื้อวัตถุดิบ การควบคุมจำนวนสินค้าระหว่างผลิต การควบคุมลูกหนี้การค้าในกรณีที่มีการให้เทอมเครดิตกับผู้ซื้อ และการจัดเก็บหนี้ให้มีประสิทธิภาพ

ผู้ทำหน้าที่ดูแลการเงินของบริษัท เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารทางการเงิน (Chief Financial Officer) ซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งที่เป็นหมายเลขสองขององค์กร เพราะเป็นผู้กุมกระเป๋าเงิน

Reference: