เมื่อปี 2019 ทางบริษัท SCB Julius Baer ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ กับ จูเลียส แบร์ ที่บริษัทจัดการความมั่งคั่งและการลงทุนชั้นนำระดับพรีเมียมจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกรายงานความมั่งคั่งในตลาดประเทศไทย ประจำปี 2019 (Wealth Report Thailand 2019) โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า ความมั่งคั่ง (Wealth) ของกลุ่มคนไทยที่มีสินทรัพย์สูง หรือ Thai HNWI (High Net Worth Individuals) มีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ย 9.9% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดย สัดส่วนของกลุ่มคนไทยที่มีสินทรัพย์สูง กว่า 19% เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Millennial Entrepreneur)
ถ้าจะสรุปรายงานฉบับดังกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ กลุ่มชนชั้นเศรษฐีในประเทศไทยนั้นมีเพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มเศรษฐีคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มเศรษฐีเดิมยังคงรวยขึ้น ดูได้จากความมั่งคั่งรวมของพวกเขาที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เฉลี่ยประมาณปีละ 10%
ยิ่งไปกว่านั้นผลสำรวจจากรายงานฉบับนี้ พบว่ากว่า 43% ของกลุ่มชนชั้นเศรษฐีนั้นมีวิธีการตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามคำแนะนำจากครอบครัวและเพื่อนฝูง
คุณเห็นโอกาสอะไรไหม?
นี่คือโอกาสที่สถาบันการเงินน้อยใหญ่มองเห็น และได้จัดตั้งสายงาน Private Banking ขึ้นมาเพื่อดูแลกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูง (HNWI, High Net Worth Individuals) ทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน การลงทุน แบบครบวงจร รวมไปถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในแต่ละช่วงชีวิตของลูกค้า
เรามักจะเรียกบุคลากรที่ทำงานดูแลลูกค้าในสายงาน Private Banking ว่า “Private Banker” บางทีก็เรียกว่า “Financial Planner” หรือ “Financial Advisor”
ทำไม Private Banker จึงจะกลายเป็นอาชีพ มนุษย์ทองคำ?
จากที่กล่าวข้างต้น เราคงเห็นถึงอุปสงค์ (Demand) ที่ท่วมท้น ซึ่งก็คือ กลุ่มชนชั้นเศรษฐีและสินทรัพย์ของเขาที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่ออุปสงค์มากขึ้น อุปทาน (Supply) ก็ย่อมมากขึ้นไปด้วย นั่นก็คือ ความต้องการ Private Banker ในตลาดแรงงาน ที่นับวันยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่การดูแลกลุ่มลูกค้าสินทรัพย์สูง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าที่กลุ่มคนเหล่านั้นจะประสบความสำเร็จ เขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทำให้ Private Banker ที่เขาจะยอมให้มาบริหารจัดการสินทรัพย์ของเขานั้น ต้องเป็นคนที่ “ครบเครื่อง” ทั้งด้านความรู้ทางเศรษฐกิจ การเงิน การลงทุน ความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ของลูกค้า
นั่นทำให้ Private Banker ที่ “ครบเครื่อง” นั้นหายากขึ้นไปอีก สถาบันการเงินทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จึงเริ่มมีการ “ซื้อตัว” Private Banker มือฉมังให้เข้ามาอยู่ในสังกัด
ความครบเครื่องทางด้าน “คุณวุฒิ” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Private Banker เนื้อหอม โดยพื้นฐานแล้ว ใครที่อยากจะมาเป็น Private Banker นั้น จำเป็นต้องมี IC License (Investment Consultant) เนื่องจากต้องมีการแนะนำการลงทุนให้แก่ลูกค้า แต่ Private Banker มือฉมังนั้น เขามักจะมุ่งเป้าไปที่ CFA (Chartered Financial Analyst) และ CFP (Certified Financial Planner) เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ทางด้านการเงินแบบครบถ้วน และเพิ่มความน่าเชื่อถือในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับลูกค้า
เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเองก็เริ่มอยากเป็น Private Banker บ้างแล้วสิ
แล้วคุณล่ะมีใครอยากเป็น Private Banker กันบ้าง ช่วย comment บอกเราด้านล่างได้เลยครับ
ด้วยรักและห่วงใย
สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์
อ้างอิง: https://www.juliusbaer.com/en/insights/arising-asia/scb-julius-baer-wealth-report-thailand-2019/