เป็นอีกหนึ่งสายอาชีพในฝัน ของบรรดานักการเงิน ถ้าเราไปถามถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสายอาชีพนักการเงินของหลายๆ คนนั้น เชื่อว่า หนึ่งในเป้าหมายหลัก คงจะหนีไม่พ้นว่า
เพราะอยากเป็น “ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)” เป็นแน่
ในสายงานจัดการลงทุน เรามักจะเรียกกันว่าเป็น “ฝั่งซื้อ” (Buy Side) โดยมาก จะเริ่มจากการเป็น “นักวิเคราะห์การลงทุน” (Investment Analyst, IA) แล้วค่อยไต่เต้าไปเป็น “ผู้จัดการกองทุน” (Fund Manager) หรือ ระดับสูงสุดคือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (Chief Investment Officer, CIO)
ขอแนะนำให้รู้จักกับสายอาชีพด้านจัดการกองทุน ดังนี้
1. นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst, IA)
จะมีหน้าที่คล้ายกับนักวิเคราะห์การลงทุน “ฝั่งขาย” (Sell side) กล่าวคือ มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ ค้นหาบริษัทจดทะเบียนที่น่าสนใจลงทุน โดยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ
เริ่มจากการออกเยี่ยมชมกิจการและสัมภาษณ์ผู้บริหาร หาข้อมูลที่น่าสนใจ มาวิเคราะห์แนวโน้มของธุรกิจ แนวโน้มของอุตสาหกรรม จัดทำประมาณการงบการเงินและวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนแนวโน้มการจ่ายเงินปันผล
เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองทางการเงิน และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของราคาหุ้นด้วยวิธีต่างๆ ผลลัพธ์ที่ได้ คือ การจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน
2. ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)
มีหน้าที่ตัดสินใจว่า เงินที่ลูกค้ามอบหมายมาให้ดูแล ในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) นั้น ควรจะบริหารอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้าคาดหวัง และไม่มีความเสี่ยงเกินกว่าที่ลูกค้าจะรับได้ และเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ
โดยผู้จัดการกองทุนต้องตัดสินใจว่า ในพอร์ตโฟลิโอของลูกค้า (Portfolio) ควรจะมีการกระจายการลงทุนไปที่สินทรัพย์ประเภทใดบ้าง (พันธบัตร, หุ้นกู้, หุ้น, เงินฝาก) ในสัดส่วนเท่าใด (Asset Allocation) แล้วแต่ละประเภทสินทรัพย์นั้น ควรกระจายไปที่หลักทรัพย์ตัวใดบ้าง ที่จะได้ผลตอบแทนตามคาดหวัง แต่อยู่บนกรอบความเสี่ยงที่รับได้ และจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ลูกค้ากำหนด
โดยอาจจะแบ่งกลุ่มตามความชำนาญ เช่น ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารหนี้ (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ) ผู้จัดการกองทุนด้านตราสารทุน (ดูแลกองทุนที่ลงทุนในหุ้น) หรือ ผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
3. ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน (Chief Investment Officer, CIO)
มีหน้าที่บริหารทีมงานจัดการกองทุนและบริหารเงินลงทุนในภาพรวม CIO คนหนึ่งอาจจะต้องดูแลพอร์ตของลูกค้าเป็นร้อยบัญชี ตัว CIO จึงต้องคาดการณ์และตัดสินใจว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินแบบนี้ ควรจะนำเงินของลูกค้าไปลงทุนอย่างไร เช่น ควรแบ่งสัดส่วนระหว่างพันธบัตรและหุ้นอย่างไร ควรมีหุ้นต่างประเทศสักกี่เปอร์เซ็นต์ ควรเน้นหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป หรือ เอเชีย เป็นต้น
4. งานบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงในพอร์ตของลูกค้า เพื่อให้มั่นใจว่า ระดับความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ฯลฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม
เพื่อนๆ ทำอยู่ส่วนไหนในสายอาชีพจัดการลงทุน หรือ ใฝ่ฝันอยากทำส่วนงานใด แชร์ประสบการณ์ได้ตาม comment ด้านล่างเลยนะครับ
ด้วยรักและห่วงใย
สัณฑ์ คุณะวัฒนากรณ์